ยินดีต้อนรับสู่ ความคิด / สร้างสรรค์ / พลังงาน
“เราจะใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กันได้หรือไม่”
เพราะทุกคนล้วนมีความต้องการใช้พลังงานไม่ต่างกัน
ความคิด / สร้างสรรค์ / พลังงาน จึงเริ่มต้นจากการตั้งคำถามดังกล่าว
บวกเข้ากับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาเป็นกรอบแนวคิดและเครื่องมือในการสำรวจและทำความเข้าใจมุมมองพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นเครื่องมือในการออกแบบและสร้างสรรค์ไอเดียการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ตรงกับความต้องการ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้พลังงานดีขึ้น
อยากรู้ไหมว่าคุณคือผู้ใช้พลังงานแบบไหน
อยากรู้เรื่องพลังงานกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
อยากลงมือสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานให้โดนใจผู้ใช้
ทำความรู้จักเรื่องพลังงานในชีวิตประจำวัน
ก่อนจะลงมือสร้างสรรค์ไอเดียการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราอยากเชิญคุณลองทำความรู้จักเรื่องพลังงานในชีวิตประจำวันทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกันก่อน
ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่การใช้ชีวิตไม่ถูกจำกัดด้วยการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์อีกต่อไป ทำไมและเมื่อใดที่การสร้างสำนึกเรื่องประหยัดพลังงานเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ความท้าทายเรื่องพลังงานวันนี้และโจทย์ในวันหน้าจะเป็นแบบไหน และความคิดสร้างสรรค์รวมถึงองค์ความรู้จะเป็นเครื่องมือช่วยจินตนาการอนาคตใหม่ของการใช้พลังงานให้เป็นจริงได้อย่างไร
อดีต
ในอดีตการประหยัดพลังงานไม่เคยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโลกไม่เคยหาพลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อหลอดไฟให้แสงสว่างที่มาพร้อมกับระบบกระแสไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้น โดยนอกจากไฟฟ้าจะกลายเป็นระบบพลังงานสำคัญให้ทุกชีวิตได้พึ่งพาแล้ว ยังได้เปลี่ยนโฉมหน้าการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง
การคุ้นเคยกับการมีพลังงานใช้อย่างสะดวกสบาย ทำให้เมื่อเกิดการขาดแคลนพลังงานไม่ว่าจะเพราะสงคราม วิฤตการณ์น้ำมัน หรือภาวะโลกร้อน ผู้คนจึงลุกขึ้นมาสร้างจิตสำนึกและรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยการออกแบบและสร้างสรรค์สารพัดวิธีการเข้าต่อกรกับข้อจำกัดทางพลังงานในหลากหลายรูปแบบ
ปัจจุบัน
ความท้าทายเรื่องพลังงานทุกวันนี้อาจไม่ใช่เรื่องของสงคราม การขาดแคลนน้ำมัน หรือโลกร้อน แต่กลายเป็นเรื่องการเสพติดการใช้พลังงานตั้งแต่ตื่นจนนอนในวันที่ทรัพยากรพลังงานสำคัญอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดไป
เมื่อโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการคมนาคมขนส่งแบบไร้พรมแดนล้วนแล้วแต่บริโภคพลังงานอย่างมหาศาล อีกทั้งเศรษฐกิจและสังคมก็ใช้พลังงานขับเคลื่อน ถ้าเช่นนั้น หากใช้แค่เพียงแคมเปญโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ในการสร้างสำนึกให้ผู้คนหันมา “ประหยัดพลังงาน” เพื่อช่วยชาติ ช่วยโลก หรือช่วยสิ่งแวดล้อม จะเพียงพอที่จะส่งต่อโลกใบนี้ไปยังอนาคตข้างหน้าหรือไม่
อนาคต
ในการจะออกแบบโลกแห่งอนาคต ความท้าทายใหม่คือจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจและพลิกมุมมองจากการประหยัดและลดการใช้ มาเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่จะช่วยพาโลกไปสู่ความยั่งยืน
โดยในขณะที่การคิดค้นนวัตกรรมพลังงานและแหล่งพลังงานทางเลือกยังคงดำเนินไป หากคิดให้กว้างขึ้น จินตนาการให้ไกลขึ้น ลงมือทำให้หนักขึ้น จะมีวิธีการสร้างและเก็บกักพลังงานจากแหล่งอื่นใดได้อีกไหม หรือจะมีนวัตกรรมและบริการรูปแบบใดที่จะเปิดโอกาสให้เราสร้างและเสพพลังงานไปพร้อมๆ กันได้ในชีวิตประจำวัน
ปี 1879: ระบบไฟฟ้าเปลี่ยนชีวิต
การปฏิวัติแสงสว่างจากเทียนไขเป็นหลอดไฟที่ใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้า เป็นจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตยุคใหม่ที่ได้พลังงานไฟฟ้าเป็นต้นทุนสำคัญ นับตั้งแต่ปลายคริสศตวรรษที่ 19 หลอดไฟของโธมัส อัลวา เอดิสัน ได้สร้างแสงสว่างยามค่ำคืนให้ครัวเรือนอเมริกัน โดยได้เปลี่ยนนิยามการใช้ชีวิตของผู้คนขึ้นใหม่ให้ปราศจากข้อจำกัดในเรื่องเวลา ความสำเร็จของหลอดไฟดังกล่าวได้เบิกทางให้เกิดการพัฒนาระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟให้ครัวเรือนทั่วนิวยอร์ก นับแต่นั้น เมืองค่อยๆ พัฒนาไปตามโครงข่ายพลังงานใหม่ที่สร้างให้เกิดตึกระฟ้า ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก และโรงภาพยนตร์ ซึ่งตอบโจทย์กับการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก
ในวันที่ 21 ตุลาคม ปี 1879 โธมัส อัลวา เอดิสัน (1847-1931) และทีมงาน ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนที่ให้แสงสว่างนานกว่า 40 ชั่วโมง ณ แล็บวิจัยเมนโล พาร์ค รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ความสำเร็จนี้เปิดทางให้เขาสร้างธุรกิจการออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่นำมาซึ่งความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล และทำให้ไฟฟ้ากลายเป็นระบบพลังงานสำคัญของทุกครัวเรือนมาจนปัจจุบัน
ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวหน้าด้านพลังงานไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 1878 เอดิสันได้ก่อตั้งบริษัทเอดิสัน อิเล็กทริค ไลท์ คอมปานี โดยพัฒนาระบบไฟฟ้ากระแสตรงขึ้นเพื่อผลิตและขายไฟฟ้าให้ครัวเรือนในนิวยอร์ก แผ่นป้ายแสดงวิธีการใช้งานหลอดไฟของเอดิสันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เมื่อเพียงแค่กดเปิดสวิทช์บนผนัง หลอดไฟก็ให้แสงส่องสว่างได้
ปี 1914 – 1945: ความคิดสร้างสรรค์บนข้อจำกัด
ข้อจำกัดด้านทรัพยากรผลักดันให้เกิดแนวคิดการประหยัดพลังงานขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 – 1918) และดำเนินต่อเนื่องมายังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939 – 1945) พลังงานที่ถูกใช้ไปเพื่อการสงครามทำให้หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หันมาประหยัดพลังงานโดยพลิกวิธีคิดขึ้นเป็นการออมแสง เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ใช้นโยบายดังกล่าวในปี 1916 โดยปรับเวลาให้เร็วขึ้นหรือช้าลง 1 ชั่วโมงตามการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในแต่ละฤดู เพื่อให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าน้อยลงและหันมาใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ได้เต็มที่ การขาดแคลนที่แทรกซึมเข้ามาในการใช้ชีวิตประจำวันยังสร้างสรรค์ให้เกิดสินค้าและบริการต่างๆ ที่ออกแบบมาสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ต้องปันส่วน ตั้งแต่ปี 1941 สาวๆ อเมริกัน มีลิควิด สต็อกกิ้ง หรือโลชั่นสีเนื้อสำหรับทาเรียวขาให้เนียนสวยเป็นตัวเลือก ทดแทนถุงน่องทำจากไนล่อนที่ขาดตลาด เพราะไนล่อนส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการผลิตชุดทหารและถุงบรรจุอาวุธ
ความต้องการของสตรีที่ยังคงอยากสวย แม้ในช่วงเวลาที่ต้องปันส่วนเครื่องแต่งกายได้ผลักดันให้เกิดบริการเสริมความงามดังเช่น ร้านขายรองเท้าในสหรัฐฯ ร้านนี้ ที่เปิดให้บริการลงรองพื้นบนเรียวขาให้เรียบเนียนเหมือนใส่ถุงน่อง ที่มาพร้อมสโลแกน “หมดปัญหาถุงน่องรัน เราวาดถุงน่องบนเรียวขาให้คุณได้”
เครดิตภาพ: http://flickr.com/photos/foxtongue
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสภาคองเกรส ชาร์ล พี ฮิกกินส์ ทำการปรับเวลานาฬิกาโอไฮโอที่ติดตั้งอยู่ในอาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ภายหลังร่างกฎหมายเวลาออมแสงผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาคองเกรส ในปี 1918 ปัจจุบันนโยบายออมแสงยังคงใช้ในหลายทวีปทั่วโลกเมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล
โปสเตอร์รณรงค์เรื่องการออมแสงเพื่อการประหยัดพลังงานของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลอเมริกันถึงการปรับเวลาในฐานะหนึ่งในมาตรการช่วยชาติสู้ศึกสงครามว่า “ลุงแซม ศัตรูของชาติเริ่มตื่นมาทำงานล่วงเวลากันแล้ว เมื่อไหร่ลุงจะลุกขึ้นมาเสียที”
ปี 1956: ไลฟสไตล์ใหม่จากเครื่องใช้ไฟฟ้า
การกลับมามีพลังงานใช้อย่างเหลือเฟืออีกครั้งตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา เปิดทางให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเบ่งบาน เกิดเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะอย่างที่ครอบคลุมทุกกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบผม เครื่องดูดฝุ่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง ตู้เย็น เตาอบ ฯลฯ ค่านิยมในการบริโภคพลังงานซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานของการใช้ชีวิตทันสมัยนี้ สะท้อนให้เห็นได้จากแคมเปญ Live Better Electrically (ใช้ชีวิตดีขึ้นได้ด้วยไฟฟ้า) ของบริษัท เจนเนอรัล อิเลคทริค (จีอี) ในปี 1956 ซึ่งโฆษณาการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดอย่างในครัวเรือน โดยจีอียังได้ร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า 180 ราย และเครือข่ายสาธารณูปโภคไฟฟ้า 300 รายทั่วสหรัฐอเมริกา ในการกระตุ้นและรณรงค์สร้างสํานึกในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า (Electrical Consciousness) ในฐานะดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกัน
โฆษณาวินเทจปี 1955 โดยอเมริกา อินดิเพ็นเด็นท์ อิเล็กทริค ไลท์ แอนด์ พาวเวอร์ คอมปานี (Independent Electric Light and Power Company) แสดงให้เห็นนิยามวิถีชีวิตแบบ “อเมริกันดรีม” ของช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่วัดกันด้วยจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกในครัวเรือน เมื่อไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคนด้อยโอกาสทางพลังงานไฟฟ้า
เครดิตภาพ: Sally Edelstein (envisioningtheamericandream.com)
โฆษณาแคมเปญ “Live Better Electrically” (LBE) ตีพิมพ์ในนิตยสารเบ็ตเตอร์ โฮม แอนด์ การ์เดน ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1958 โดยเพื่อสร้างอุปสงค์ทางความต้องการพลังงานไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าสหรัฐฯ จึงได้ร่วมกันจัดแคมเปญดังกล่าวขึ้นทั่วประเทศในปี 1956 ก่อนที่ในปี 1957 แคมเปญ LBE จะปล่อยแคมเปญ “Medallion Homes” ซึ่งจะมอบเหรียญรางวัลให้แก่ครอบครัวที่มีรายการเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านครบถ้วนตามมาตรฐานของวิถีชีวิตสมัยใหม่
เครดิตภาพ: flickr.com/photos/mrbill
ปี 1973 – 1974: วิถีใช้ชีวิตบนความขาดแคลน
ความขาดแคลนพลังงานกลับมาอีกครั้งในทศวรรษ 1970 เมื่อในเดือนตุลาคม ปี 1973 เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและชาติอาหรับ การตัดสินใจคว่ำบาตรการค้าน้ำมันจนทำให้การค้าน้ำมันโลกหยุดชะงักของชาติอาหรับนี้ ส่งผลเป็นวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกของโลก จนหลายประเทศต้องงัดมาตรการการประหยัดพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันมาใช้อีกครั้ง ในสหราชอาณาจักร รัฐอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้ไฟฟ้าได้เพียง 3 วันต่อสัปดาห์ ในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการลดการเปิดไฟบนทางหลวงหลายสาย เกิดเป็นป้ายข้อความเตือนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะในยามค่ำคืน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังทำให้รถสปอร์ตอเมริกันเสื่อมความนิยมลง เปิดทางให้รถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่นและยุโรปเข้ามาตีตลาด รวมถึงสร้างความวุ่นวายในการเติมน้ำมันรถ เมื่อปั๊มน้ำมันบางแห่งเลือกเติมน้ำมันให้เฉพาะลูกค้าขาประจำหรือลูกค้าที่นัดมาล่วงหน้าเท่านั้น
ผู้ค้าน้ำมันรัฐในโอเรกอนของสหรัฐอเมริกาตั้งป้ายอธิบายนโยบาย “Flag Policy” ในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันช่วงฤดูหนาวของปี 1973 – 1974 ธงสีเขียวหมายถึงสถานีบริการน้ำมันนั้นๆ ยินดีเติมน้ำมันให้กับลูกค้าทุกคน ธงสีเหลืองคือรับเติมน้ำมันให้เฉพาะรถบรรทุกหรือรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและการพาณิชย์เท่านั้น ในขณะที่ธงสีแดงหมายถึงสถานีบริการน้ำมันนั้นๆ งดให้บริการ
พ่อลูกชาวอเมริกันติดป้ายเตือนที่รถยนต์เพื่อขู่โจรขโมยน้ำมันในวิกฤตการณ์น้ำมันปี 1974 การขโมยน้ำมันจากรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ริมถนนในเขตพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้คนพลุกพล่านได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่
ในวาระครบรอบ 40 ปีวิกฤติการณ์น้ำมันปี 1973 นิตยสารออโตโมทีฟ นิวส์ Automotive News นิตยสารรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ฉบับเดือนตุลาคมปี 2013 ได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเสื่อมความนิยมในรถสปอร์ตอเมริกันที่เครื่องยนต์ใหญ่แรงม้าสูง ราคาน้ำมันที่แพงลิ่วทำให้ผู้บริโภคหันมาขับรถยุโรปหรือญี่ปุ่นคันย่อมแบบ 3 หรือ 5 ประตู ที่เครื่องยนต์เล็กประหยัดน้ำมัน แถมยังสามารถบรรทุกได้ทั้งผู้โดยสารและสัมภาระ
1992: พลังงานคือวาระของโลก
เมื่อถึงต้นทศวรรษที่ 1990 เรื่องพลังงานก็กลายเป็นประเด็นระดับโลก การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ในปี 1992 เป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกหันมาจับมือกันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือเอิร์ธ ซัมมิท ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งได้เป็นข้อสรุปที่ว่า “ไม่มีอะไรที่จะสําคัญไปกว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของพวกเราเอง ที่จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญของโลก” ภายหลังขึ้นสหัสวรรษใหม่ เรื่องพลังงานกับภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วไปต่างรับรู้อย่างแพร่หลาย เมื่ออัล กอร์ นำเสนอผลกระทบและภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ใน An Inconvenience Truth สารคดีความยาว 100 นาที ในปี 2006
หนึ่งในภาพที่น่าจดจำที่สุดของการประชุมเอิร์ธ ซัมมิท ในปี 1992 เมื่อผู้แทนประเทศต่างๆ หลายร้อยคนลงชื่อปฏิญาณตนร่วมกันว่า “ด้วยตระหนักถึงการกระทำของมนุษย์ทั้งต่อธรรมชาติและต่อมนุษย์ด้วยกันเองว่าเป็นต้นกำเนิดของการทำลายทรัพยากรสภาพแวดล้อมเพื่อความต้องการในการอยู่รอดของมนุษย์เอง ฉันขอปฏิญาณตนว่า จะช่วยทำให้โลกเป็นบ้านที่มั่นคงและปลอดภัยแด่ผู้คนในวันนี้และในวันหน้าอย่างสุดกำลังความสามารถ”
เครดิตภาพ: United Nation Media (unmultimedia.org)
ในปี 2006 เรื่องจริงช็อคโลก (An Inconvenient Truth) ภาพยนตร์กึ่งสารคดีขนาดยาว ได้ปลุกกระแสให้ทั่วทั้งโลกตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ในฐานะภัยคุกคามระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการ สารคดีเล่าเรื่องราวของอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และความพยายามของเขาในการรณรงค์ให้ผู้คนเข้าใจและตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญ
เมื่อชีวิตเสพติดพลังงานแบบ 24/7
ทุกวันนี้ พฤติกรรมการใช้พลังงานกันแบบทั้งวันทั้งคืนสะท้อนให้เห็นผ่านการเสพติดการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่มีระบบเครือข่ายและซอฟแวร์แอพพลิเคชันที่พัฒนาจนสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะ ในรายงาน ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไทย ปี 2015 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งสำรวจจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวน 10,434 คน พบว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตที่ทำงานและระหว่างเดินทางมากถึงร้อยละ 43.2 และร้อยละ 26 ตามลำดับ โดยเพื่อทำกิจกรรมและธุรกรรมบนโลกออนไลน์สารพัด ตั้งแต่การสื่อสารในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 82.7) การฟังวิทยุหรือเล่นเกม (ร้อยละ 42.3) ไปจนถึงการซื้อสินค้า (ร้อยละ 25.8) และการทำธุรกรรมทางการเงิน (ร้อยละ 21.6)
รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไทย ปี 2015 ยังระบุอีกว่า ปัจจัยด้านราคาของอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ราคาถูกลง การพัฒนาเครือข่ายและแอพพลิเคชั่นให้รองรับการใช้งานได้หลากหลาย ส่งผลให้สมาร์ตโฟนกลายมาเป็นอุปกรณ์อันดับหนึ่งที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเลือกใช้ในในการเชื่อต่อกับโลกออนไลน์ ด้วยชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 5.7 ชั่วโมงต่อวัน
ปี 2015 ยังเป็นปีแรกที่ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไทยสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันมากที่สุดถึงตลอด 24 ชั่วโมง โดย กิจกรรมยอดนิยม 3 อันดับแรกของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การใช้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม (เฟสบุค ไลน์ และอินสตาแกรม ถ้าเรียงจากความนิยมมากไปน้อย) การสืบค้นข้อมูล และการใช้ติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
เมื่อการใช้พลังงานสวนทางกับการผลิต
ปัจจุบันทรัพยากรด้านพลังงานถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง จากอุปสงค์ทางพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2030 อัตราความต้องการน้ำมันที่ใช้ไปกับการขนส่งทั่วโลก อาจถีบตัวสูงขึ้นเป็น 23.4 พันล้านบาร์เรลต่อปี จาก 15.4 พันล้านบาร์เรลต่อปี ในปี 2004 ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1,200 ล้านคัน ในปี 2015 จาก 850 ล้านคันในปี 2010 แนวโน้มการบริโภคพลังงานที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลยนี้ ส่งผลให้แหล่งเชื้อเพลิงที่โลกขุดค้นพบในอนาคตอาจไม่เพียงพอกับความต้องการได้
หากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ปริมาณน้ำมันที่สามารถผลิตได้ย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค เนื่องจากการขุดพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยากมากในยุคปัจจุบัน อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจึงไม่สามารถปรับตัวตามอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันทั่วโลกมีปริมาณสูงกว่าอัตราการขุดพบแหล่งน้ำมันใหม่กว่า 3 เท่าตัว
เมื่อโลกขนส่งและเดินทางอย่างไร้พรมแดน
โลกยุคโลกาภิวัฒน์ยังหมายถึงการผลิต การค้า และการขนส่งแบบข้ามชาติ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศที่มีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันร้อยละ 50 ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก ถูกใช้ไปกับการคมนาคมขนส่งมากที่สุด ในรายงานประจำปี 2015 โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association) ระบุว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2014 มีการขนส่งสินค้าทางอากาศจำนวนสูงถึง 51.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของมูลค่าการค้าโลกทั้งหมด โดยมีอัตราการขนส่งทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นต่อปีที่ระดับร้อยละ 4.1
ไม่เพียงแต่การขนส่งสินค้าทางอากาศที่จะเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association, IATA) ได้ประมาณการว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 3,300 ล้านรายในปี 2557 สู่ระดับ 7,300 ล้านรายในปี 2577
เมื่อระบบการสื่อสารกินพลังงานมหาศาล
โลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นกำลังหลักในการควบคุมและเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ข้อมูลทุกชนิดทุกรูปแบบที่หลั่งไหลเข้าออกในทุกวินาทีทั่วทุกมุมโลก ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคในระบบคลาวด์ เพื่อบริหารจัดการการจราจร การขนส่ง การโทรคมนาคม ระบบการเงินและการลงทุน ฯลฯ บริโภคพลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาล ในรายงาน The Cloud Begin With Coal: Big Data, Big Network, Big Infrastructure, and Big Power โดย มาร์ค พี. มิลส์ ซีอีโอของบริษัท ดิจิทัล พาวเวอร์ กรุ๊ป (Digital Power Group) ได้ประมาณการว่า ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโลก ใช้ไฟฟ้าเกือบร้อยละ 10 ของพลังงานไฟฟ้าโลก ซึ่งเท่ากับปริมาณการผลิตไฟส่องสว่างให้กับโลกทั้งใบในปี 1985 รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ระบบคลาวด์ใช้พลังงานเฉลี่ยสูงถึง 1,500 เทราวัตต์/ชั่วโมงต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าของเยอรมนีและญี่ปุ่นรวมกัน
เซิร์ฟเวอร์หลายพันตัวเรียงรายเป็นระเบียบในศูนย์ข้อมูลแห่งหนึ่งของกูเกิ้ล แต่ละตัวจะประกอบไปด้วยสายเคเบิ้ลสีต่างๆ กันเพื่อให้จำแนกประเภทการใช้งานได้ง่าย ศูนย์ข้อมูลของกูเกิ้ลกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังบริการสืบค้นข้อมูล อีเมล ยูทูบ หรือกูเกิ้ลพลัส โดยกินพลังงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเพื่อสั่งการระบบปฏิบัติการและลดความร้อนของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ปัจจุบันประมาณการว่า โดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 1 ตารางฟุตของศูนย์ข้อมูลโดยทั่วไปนั้นใช้ไฟฟ้ามากกว่าพื้นที่ 1 ตารางฟุตของอาคารสำนักงานสมัยใหม่ถึง 100 – 200 เท่า
ช่วยชาติ ช่วยรัฐ ช่วยกัน “ประหยัด” พลังงาน ?
จากรายงาน การสำรวจข้อมูลวาทกรรมการใช้พลังงานร่วมกันในพื้นที่สาธารณะและการรณรงค์ผ่านสื่อโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งได้ศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบในการรณรงค์เรื่องพลังงานในพื้นที่ธุรกิจ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ พบว่าเนื้อหายังคงมุ่งเน้นไปยังเรื่องการประหยัดน้ำ ไฟฟ้า และน้ำมัน ด้วยการลดค่าการใช้พลังงานให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือองค์กร รัฐ และประเทศชาติ ผ่านสื่อรณรงค์รูปแบบเดิมๆ เช่น แผ่นป้าย สติกเกอร์ โปสเตอร์ บิลบอร์ด ฯลฯ ซึ่งผู้พบเห็นสื่อต่างก็ตระหนักรู้และมีสำนึกในเนื้อหาอยู่แล้ว แต่เมื่อในปัจจุบันการรณรงค์ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน คำถามคือ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะให้ข้อมูลหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการสื่อสารแนวคิดเรื่องพลังงานที่ต่างไป กระทั่งออกแบบนวัตกรรมการใช้พลังงานใหม่ๆ เพื่อสร้างสังคมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ตัวอย่างภาพถ่ายจากรายงาน การสำรวจข้อมูลวาทกรรมการใช้พลังงานร่วมกันในพื้นที่สาธารณะและการรณรงค์ผ่านสื่อ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แสดงให้เห็นการรณรงค์เรื่องประหยัดไฟฟ้า เช่น ไฟส่องสว่าง ลิฟท์ เครื่องปรับอากาศ ปลั๊กไฟ ฯลฯ ในฐานะวาทกรรมที่พบบ่อยที่สุด โดยถูกเชื่อมโยงเข้ากับการรักษาสุขภาพ การช่วยโลก ช่วยองค์กร และช่วยประเทศชาติ
ความร้อน = พลังงาน
จะเป็นอย่างไรถ้าความร้อนจากร่างกายมนุษย์ไม่สูญเปล่า สถานีรถไฟสตอล์กโฮม แกรนด์ เซ็นทรัล (Stockholm Grand Central Station) ที่ประเทศสวีเดน ใช้ไอเดียการเก็บเกี่ยวความร้อนจากผู้ใช้งานสถานีรถไฟ ด้วยอุปกรณ์ที่ซ่อนไว้ในระบบระบายอากาศโดยความร้อนที่เก็บเกี่ยวได้จะถูกส่งผ่านไปยังระบบบ่อน้ำร้อน เพื่อผลิตเป็นไอร้อนที่จะถูกลำเลียงผ่านท่อในระบบระบายอากาศ ไปสร้างความอบอุ่นให้แก่ผู้คนในอาคารในละแวกใกล้เคียงต่อไป ระบบเก็บเกี่ยวพลังงานความร้อนจากร่างกายนี้ เป็นแนวคิดของบริษัท อสังหาริมทรัพย์เยิร์นฮูเซ่น ที่มีส่วนช่วยลดค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารได้ถึงร้อยละ 25 ในช่วงฤดูหนาวของสตอล์กโฮม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเก็บเกี่ยวความร้อนจากมนุษย์ในสถานีรถไฟสตอล์กโฮม แกรนด์ เซ็นทรัล
ในแต่ละวัน สถานีรถไฟสตอล์กโฮม แกรนด์ เซ็นทรัล มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยราว 250,000 คน ซึ่งทุกๆ กิจกรรมภายในสถานี ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การซื้อหนังสือพิมพ์ การซื้อกาแฟ หรือแม้แต่การพูดคุย ก็ถูกเก็บไปสร้างเป็นไอร้อนให้ความอบอุ่นได้ทั้งสิ้น
ไลฟสไตล์ = พลังงาน
จะเป็นอย่างไรถ้าการใช้ชีวิตของมนุษย์สามารถเก็บกักมาผลิตเป็นไฟฟ้าได้ ซัสเทนเนเบิ้ล แดนซ์ ฟลอร์ (Sustainable Dance Floor) ผนวกการเต้นรำเข้ากับการสร้างสรรค์พลังงาน ผลลัพธ์ที่ได้คือฟลอร์เต้นรำที่มีกลไกในการเก็บเกี่ยวการออกสเต็ปและลีลาท่าเต้นไปเป็นไฟฟ้า ซัสเทนเนเบิ้ล แดนซ์ ฟลอร์ เป็นแนวคิดและเทคโนโลยีของบริษัท อีเนอร์จี ฟลอร์ (Energy Floor) (ในอดีตคือซัสเทนเนเบิ้ล แดนซ์ คลับ (Sustainable Dance Club) ที่ได้สตูดิโอโรสการ์ด (Studio Roosegaarde) มาออกแบบต่อยอดการใช้งานให้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัท อีเนอร์จี ฟลอร์ ติดตั้งซัสเทนเนเบิ้ล แดนซ์ ฟลอร์ ทั้งในคลับ คอนเสิร์ต มหกรรมโอลิมปิก และงานเอ็กซ์โป ไปแล้วกว่า 350 แห่งทั่วโลก โดยแค่เฉพาะในปี 2012 ฟลอร์เต้นรำนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 2 พันล้านจูล จากคนกว่า 950,000 คน
ทุกๆ สเต็ปของการเต้นรำจะถูกเก็บเป็นพลังงานที่นักเต้นสามารถมองเห็นได้บนจอแอลอีดีรูปแบตเตอรี่ซึ่งแสดงผลในแบบรีลไทม์ ทั้งยังนำไปใช้สร้างแสงสีเลี้ยงไฟแอลอีดีบนพื้นฟลอร์ให้ตระการตา กระตุ้นให้นักเต้นเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง
เครดิตภาพ: Energy Floors (energy-floors.com)
กลไกการสร้างพลังงานของซัสเทนเนเบิ้ล แดนซ์ ฟลอร์คือการเก็บพลังงานจลน์เป็นกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) ที่เปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนจากตัวรับสัญญาณใต้แผ่นโมดูลขนาด 75 x 75 x 20 เซนติเมตร เป็นกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 35 วัตต์ (โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละสเต็ปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5 – 20 วัตต์) ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสมาร์ทโฟนและกล้องดิจิทัล
เครดิตภาพ: Energy Floors (energy-floors.com)
ธรรมชาติ = พลังงาน
จะเป็นอย่างไรถ้าต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมถนนยังทำหน้าที่เป็นเสาไฟได้ด้วย โปรเจ็กต์โกลวอิ้ง เนเจอร์ (Glowing Nature) เปลี่ยนใบไม้ให้เรืองแสงได้ในยามค่ำคืน ด้วยการประยุกต์ใช้สารทางชีวภาพที่ได้จากเลียนแบบการเรืองแสงของเห็ดและแมงกะพรุน มาพ่นเคลือบลงบนต้นไม้ให้ส่องสว่างได้นานถึงคืนละ 8 ชั่วโมง โปรเจ็กต์โกลวอิ้ง เนเจอร์ เป็นความร่วมมือระหว่างดร. อเล็กซานเดอร์ คริเชฟสกี (Dr. Alexander Krichevsky) นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งบริษัทไบโอโกลว (Bioglow) ดานน์ โรสการ์ด (Daan Roosegaarde) นวัตกรชาวดัตช์ และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก (State University of New York) ซึ่งได้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่ภูมิทัศน์แห่งอนาคต เมื่อธรรมชาติและแสงสว่างกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
ต้นสตาร์ไลท์ อวตาร์™ (Starlight Avatar™) ต้นไม้เรืองแสงของบริษัทไบโอโกลว โดยโปรเจ็กต์โกลวอิ้ง เนเจอร์ ได้แรงบันดาลใจจากต้นไม้ต้นแบบนี้ ซึ่งเพาะพันธุ์ให้ลำต้นตลอดจนใบไม้เรืองแสงได้ ด้วยการทดลองตัดต่อพันธุกรรมจากแบคทีเรียเรืองแสงในทะเลลงไปในเซลล์ของไม้ประดับในร่มที่นิยมปลูกกันทั่วไปในครัวเรือน
ปัจจุบันโปรเจ็กต์โกลวอิ้ง เนเจอร์ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาสารเรืองแสงจากธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และกำลังทดลองกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เพื่อสร้างสรรค์ภูมิทัศน์ให้น่าตื่นตาตื่นใจ
การเคลื่อนไหว = พลังงาน
จะเป็นอย่างไรถ้าทุกการเคลื่อนไหวสามารถสร้างแสงไฟได้ สนามฟุตบอลเชลล์ ฟุตบอล พิทช์ (Shell Football Pitch) สนามฟุตบอลกลางแจ้งใจกลางย่านมอโร ดา มิเนียร่า (Morro da Mineira) ซึ่งเป็นเขตชุมชนแออัดในกรุงรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ประสบความสำเร็จในการแปรสภาพทุกฝีก้าวของนักบอลไปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยนอกเหนือจากการกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาเซลล์แล้ว แผ่นโมดูลใต้สนามฟุตบอลที่ผลิตจากพลาสติกและยางรีไซเคิลกันน้ำจำนวน 200 แผ่น ยังรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเกมฟุตบอลบนสนามแล้วสร้างเป็นกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างได้ยาวนานถึง 10 ชั่วโมง สนามฟุตบอลเชลล์ ฟุตบอล พิทช์ เป็นการร่วมทุนสร้างสรรค์ระหว่างบริษัท เพฟเจน (Pavegen)ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) และบริษัท เชลล์ (Shell) ที่เปลี่ยนความหลงใหลในกีฬาลูกหนังของบราซิลให้เป็นการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากจะปั่นไฟให้สนามสว่างแล้ว กระแสไฟฟ้าที่สนามฟุตบอลแห่งนี้ผลิตได้ ยังช่วยส่องสว่างให้ย่านดังกล่าวในกรุงริโอ เด จาเนโร ซึ่งมักเกิดเหตุการณ์ไฟดับอยู่บ่อยครั้ง แผ่นโมดูลแต่ละแผ่นยังเชื่อมต่อเข้ากับระบบ Application Programming Interface (API) ที่เก็บข้อมูลกระแสไฟฟ้าในสนามเพื่อแสดงผลแบบรีลไทม์ได้อีกด้วย
พลังงานเก็บกักได้
จะเป็นอย่างไรถ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถเก็บกักไว้ใช้งานได้ในทุกเวลาที่ต้องการ เทสล่า พาวเวอร์วอล (Tesla Powerwall) เป็นนวัตกรรมเก็บพลังงานอัจฉริยะสำหรับครัวเรือน ที่นอกจากจะเก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาทิตย์มาไว้ในแบตเตอรี่เพื่อสำรองเป็นแหล่งพลังงานไว้ใช้งานได้ทั้งในเวลาปกติและยามคับขันแล้ว ยังสามารถเก็บกระแสไฟฟ้าจากระบบการจ่ายไฟฟ้าส่วนกลางมาสำรองไว้ได้อีกทางหนึ่งด้วย เทสล่า พาวเวอร์วอล เป็นผลงานของบริษัท เทสล่า มอเตอร์ส (Tesla Motors) ผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ลองจินตนาการโฉมหน้าของการใช้พลังงานในครัวเรือนแห่งอนาคต
เทสล่า พาวเวอร์วอล สามารถเก็บพลังงานเข้าแบตเตอรี่และนำมาใช้งานภายในบ้าน รวมถึงชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าได้ตลอดเวลา โดยออกแบบมาให้ติดตั้งได้ทั้งบนผนังหรือกำแพงในร่มและพื้นที่กลางแจ้ง
พลังงานและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) นั้น ไม่ได้หมายถึงการประหยัดพลังงาน (Energy Saving) แต่เป็นการลดค่าการใช้พลังงานลงโดยให้ยังคงผลลัพธ์ได้เท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงปริมาณหรือคุณภาพ
จุดนี้เองที่กระบวนการคิดเชิงออกแบบจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะเครื่องมือในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา ที่จะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมและและบริการใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ แก่นของกระบวนการคิดเชิงออกแบบอยู่ที่การวางกรอบใหม่ให้กับปัญหา โดยเริ่มจากการตั้งสมมติฐาน รวมรวบข้อมูลหลักฐาน หารูปแบบ ตั้งคำถาม และหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้บนขอบเขตที่วางไว้
หากเรารู้และเข้าใจแล้วว่าการประหยัดพลังงานไม่ได้เท่ากับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลองใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบมาหาคำตอบกันไหมว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้พลังงานสามารถใช้พลังงานน้อยลงแบบสมัครใจโดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียสละไลฟ์สไตล์ที่คุ้นเคย
รู้จักและเข้าใจผู้ใช้พลังงาน
เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติ ความต้องการ พฤติกรรม การรับรู้ และประสบการณ์การใช้พลังงานของผู้ใช้พลังงานภาคครัวเรือน เราใช้เครื่องมือการวิจัยเชิงออกแบบ (Design Research Tools) เช่น การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก ฯลฯ
ลองมาทำความรู้จักกับผู้ใช้จำลอง 6 กลุ่ม ที่เราสร้างขึ้นจากข้อมูลจากการวิจัย เรื่องราวต่างมุมมองและวิถีชีวิตที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมและพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ต่างกันนี้ จะให้ช่วยคุณสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลากหลาย และครอบคลุม
ความเข้าใจเชิงลึก-ไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อย ผู้ใช้พลังงานมีจิตสำนึกเรื่องการประหยัดพลังงานอยู่แล้ว
-เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ในชีวิตของผู้ใช้พลังงาน
-บริบทและสภาพแวดล้อมส่งกระทบต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน
-การจะใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบข้าง
-พลังงานและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ต้องนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ
ครอบครัวตัวจ่าย
พ่อแม่วัยกลางคน ลูกชายลูกสาววัยรุ่น และแม่บ้าน ใช้ชีวิตในบ้านชานเมืองหลังใหญ่ที่มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตอย่างครบครัน
เพราะสำหรับครอบครัวตัวจ่ายความสบายต้องมาก่อน ไม่น่าแปลกใจที่ต่างฝ่ายต่างพากันผลาญพลังงานไปกับทุกกิจกรรมที่คิดว่าใช่ในทุกเวลาที่ต้องการ การเปิดไฟหรือเปิดแอร์ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะความสบายของกายใจคือหัวใจสำคัญ ทำให้ถึงแม้ว่าคุณแม่อยากจะควบคุมการใช้พลังงานแค่ไหน ก็จนใจเพราะขาดความร่วมมือจากสมาชิกในบ้าน ผู้ไม่เคยสนใจเลยว่าเงินค่าไฟจะปลิวออกจากกระเป๋าไปเท่าไหร่ในแต่ละเดือน
คู่รักรักษ์โลก
คู่รักหนุ่มสาวฮิปสเตอร์อายุยี่สิบแปดปี ทำงานในสายอาชีพการออกแบบและครีเอทีฟ อาศัยในคอนโดโลว์ไรส์ใจกลางเมืองที่แวดล้อมไปด้วยแมกไม้เขียวขจี
คู่รักรักษ์โลกเชื่อมโยงเรื่องพลังงานที่จับต้องได้ยากเข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากจะเชื่อมั่นว่าพลังงานจะไม่มีวันหมดไปจากโลกถ้ารู้จักใช้อย่างรักษ์สิ่งแวดล้อม หนุ่มสาวคู่นี้มีความยั่งยืนอยู่ในทุกลมหายใจ ทั้งคู่ชอบโพสต์และแชร์เคล็ดลับประหยัดพลังงานกับเพื่อนฝูง รวมถึงเป็นแนวหน้าในการทำกิจกรรมลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ทั้งการปั่นจักรยาน การใช้ถุงผ้าช้อปปิ้งลดโลกร้อน และการปลูกต้นไม้ ทุกอย่างดูดี ถ้าพวกเขาจะเข้าใจว่า การขับรถไฮบริดไปซื้อสินค้าออร์แกนิกที่ร้านใกล้บ้านในวันหยุดนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการประหยัดพลังงาน
นักล่าไฟฟ้า
นักศึกษาสาวอายุยี่สิบปีที่ย้ายเข้าเมืองมาเรียนหนังสือ เพราะต้องดูแลรับผิดชอบทั้งค่าหอ ค่ากิน และค่าเดินทางด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่า ยิ่งเธออยู่หอเยอะเท่าไหร่ ใช้พลังงานไปแค่ไหน ก็ต้องจ่ายเงินไปเท่านั้น
เพราะชีวิตที่พึ่งพาโลกอินเทอร์เน็ตในการเรียนและทำงาน รวมถึงการรับรู้ข่าวสารและความบันเทิงจากโลกโซเชียล สำหรับนักล่าไฟฟ้า ที่ไหนก็ตามที่มีโต๊ะให้เธอนั่งทำงานหรือดูหนังฟังเพลง มีปลั๊กไฟให้เสียบสายชาร์จโน๊ตบุ๊ก มือถือ หรือพาวเวอร์แบงก์ มีฟรี wi-fi ให้ใช้ไม่อั้น และมีแอร์ปรับอากาศไว้ให้เย็นฉ่ำ แม้จะต้องจ่ายค่าน้ำค่าอาหาร นักล่าไฟฟ้าถือว่าคุ้มค่ากว่ากลับไปจ่ายบิลค่าไฟของหอพัก
คุณทรงประสิทธิภาพ
สถาปนิกหนุ่มนักเรียนนอกอายุสามสิบแปดปี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เติบโตมาในบ้านที่รู้จักออกแบบและวางแผนการใช้พลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแน่นปึ๊ก
เพราะมองว่าการใช้พลังงานจะต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสบาย เพื่อเป้าหมายเรื่องค่าใช้จ่าย หรือจะเพื่อความสุขและความสบายใจก็ตาม คุณทรงประสิทธิภาพจึงใช้อุปกรณ์ไฮเทคในการวางแผนเส้นทางและวิธีการเดินทางก่อนออกจากบ้านไปทำงาน และไม่เกี่ยงว่าสุดท้ายคือจะไปลงเอยด้วยการขับรถ คาร์พูล ปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งมวลชน ขึ้นกับว่าวิธีไหนตอบความต้องการของเขาได้ดีที่สุด
นางสาวตามน้ำ
สาวทำงานองค์กรของรัฐอายุสามสิบห้าปี อาศัยอยู่ในชุมชนแฟลตการเคหะขนาดใหญ่ นางสาวตามน้ำเชื่อสุดใจในข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานทั้งจากวิทยุและโทรทัศน์ และจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนบ้าน
สื่อและคนรอบข้างมีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานของนางสาวตามน้ำ สำหรับเธอแล้ว ใครว่าอะไรดีเธอก็ว่าดี ใครให้ทำอะไรหรือทำอะไร เธอก็พร้อมจะทำตาม ไม่เพียงแต่เธอจะเป็นคนที่คอยสอดส่องดูแลการเปิดปิดแอร์ช่วงพักเที่ยงในที่ทำงานตามประกาศขอความร่วมมือแล้ว นางสาวตามน้ำยังเป็นคนที่จะยินดีปิดไฟในบ้านหนึ่งนาทีตามการรณรงค์ให้ปิดไฟทั่วประเทศทางทีวีอย่างไม่ลังเลอีกด้วย การได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเดียวกับที่เพื่อนๆ ใช้หรือแนะนำ สร้างความฟินและความมั่นใจในสินค้าได้ไม่แพ้การรับชมและรับฟังคำโฆษณาความคุ้มค่าของเครื่องใช้ไฟฟ้าทางทีวี
นักแสวงหาโอกาส
เจ้าของบูตีกโฮสเทลอายุสี่สิบปี นักแสวงหาโอกาสที่มองการใช้พลังงานเป็นเรื่องของการลงทุน ข่าวสารและข้อมูลที่ชัดเจนคือหัวใจสำคัญในการช่วยตัดสินใจทำธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
นักแสวงหาโอกาสสนใจศึกษาเรื่องพลังงานและพยายามคำนวณผลตอบแทนหากจะต้องลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อติดตั้งแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้ให้มีประสิทธิภาพโดยดูที่ความคุ้มค่าและการคืนทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี แม้ค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานที่สูงจะแสดงว่ามีแขกเข้าพักที่โรงแรมมาก เขาก็ไม่ลังเลที่จะติดสติกเกอร์ลดโลกร้อนไว้ที่สวิทซ์ไฟในห้องพักแขก ถ้านั่นจะช่วยให้บิลค่าไฟที่เขาต้องจ่ายลดลงสักนิด
สรรหาสารพันไอเดียพลังงาน
ไอเดียทดลอง นวัตกรรมและบริการที่คุณเห็นเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ช่วยเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้อง
โอกาส-จะทำอย่างไรให้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
-จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างไรให้เกิดการใช้พลังอย่างมีประสิทธิภาพ
-จะจัดการปัจจัยเรื่องคนรอบข้างอย่างไรให้เอื้อต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
-จะทำอย่างไรให้พลังงานเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่าย
-จะทำอย่างไรให้พลังงานเป็นเรื่องที่จับต้องได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจ
เนสท์ เทอโมสแตด
เพื่อให้เครื่องปรับอากาศปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้ตามพฤติกรรมการใช้งานของคนในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เนสท์ เทอโมสแตด จึงถูกออกแบบให้จดจำรูปแบบการใช้งานเครื่องปรับอากาศของครัวเรือนนั้นๆ และประมวลผลสถิติค่าอุณหภูมิเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ โดยเซนเซอร์และระบบจะตรวจสอบจำนวนคนในห้อง ก่อนจะตัดสินใจปรับลดหรือเพิ่มอุณหภูมิ รวมไปถึงทำการเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศโดยเจ้าของบ้านไม่ต้องออกแรง เนสท์ เทอโมสแตด ยังแสดงค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าและอุณหภูมิในแบบรีลไทม์ผ่านแอพพลิเคชัน เทอโมสแตดอัจฉริยะนี้ เป็นเทคโนโลยีจากบริษัท เนสท์ แล็บ (Nest Lab) ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท อัลฟาเบธ (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิ้ล
แผนที่รวมแหล่งพลังงาน
เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเสพติดพลังงานของผู้คนในปัจจุบัน แผนที่รวมแหล่งพลังงานมองเรื่องพลังงานให้เป็นจุดขาย โดยให้ข้อมูลจำนวนปลั๊กไฟและวายฟายในคาเฟ่หรือคอฟฟี่ช็อปต่างๆ ในแต่ละย่าน ไปพร้อมๆ กับข้อมูลเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม และการบริการ ผู้ใช้งานนอกจากจะสำรวจและเลือกใช้บริการคาเฟ่หรือคอฟฟี่ช็อปได้ตามใจชอบแล้ว ยังสามารถรีวิวและให้คะแนนระดับความพึงพอใจที่ได้อีกด้วย แผนที่รวมแหล่งพลังงานนี้จึงตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ เมื่อไฟฟ้ากลายเป็นบริการใหม่ที่คุ้มค่าเมื่อมากับอาหารและเครื่องดื่ม แผนที่รวมแหล่งพลังงานเป็นไอเดียพลังงานที่ได้จากรายงาน การสำรวจข้อมูลวาทกรรมการใช้พลังงานร่วมกันในพื้นที่สาธารณะและการรณรงค์ผ่านสื่อ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
โอพาวเวอร์
เพื่อให้การประหยัดพลังงานกลายเป็นเรื่องสนุกและทุกคนมีส่วนร่วมได้ผ่านการแข่งขัน โอพาวเวอร์ (OPOWER) จึงถูกออกแบบมาให้เป็นแพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบค่าการใช้พลังงานระหว่างครัวเรือนที่มีขนาดเท่ากัน ผ่านแอพพลิเคชันและระบบซอฟต์แวร์ ที่เชื่อมต่อมิเตอร์ไฟฟ้าของแต่ละบ้านที่ใช้งานโอพาวเวอร์เข้าด้วยกันบนโลกออนไลน์ แล้วแจ้งเป็นอันดับการใช้ไฟฟ้ามากน้อยของแต่ละครัวเรือนทุกๆ เดือน โอพาวเวอร์ เป็นแอพพลิเคชันที่ผลิตโดยบริษัท โอพาวเวอร์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับผู้ให้บริการด้านพลังงานในสหรัฐอเมริกาจากการร่วมมือระหว่างวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักออกแบบ และนักจิตวิทยา ผู้นำพฤติกรรมการชอบแข่งขันของมนุษย์ มาเป็นกรอบในการออกแบบบริการนี้
โฮมสมาร์ทโฮม
เพื่อให้ค่าพลังงานเป็นเรื่องที่เห็นได้และเข้าใจง่าย แนวคิดระบบโฮมสมาร์ทโฮมจึงถือกำเนิดขึ้นบนพื้นฐานความต้องการเชื่อมโยงเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าด้วยกันแบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบมิเตอร์ประจำบ้าน หรือระบบจ่ายค่าไฟการไฟฟ้า โดยเป็นระบบเครือข่ายที่นอกจากจะใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากระยะไกลได้แล้ว ยังสามารถตรวจสอบค่าการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดแบบรีลไทม์ รวมถึงทำการชำระค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ทั้งนี้ ระบบยังสามารถนำไปใช้งานในโครงการบ้านจัดสรรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้โครงการและเพิ่มขีดความสามารถในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบโฮมสมาร์ทโฮมเป็นไอเดียพลังงานจากเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิดเปลี่ยนชีวิตพลังงาน” โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ HUBBA Thailand
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิด เปลี่ยนชีวิตพลังงาน”
ลอตเตอรี่พลังงาน
เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเสี่ยงโชคที่คนไทยชื่นชอบ แนวคิดล็อตเตอรี่พลังงานจึงเกิดขึ้นโดยผนวกเรื่องการใช้พลังงานเข้ากับวิถีชีวิต ผู้ใช้งานสามารถสะสมจำนวนเงินส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่ลดค่าการใช้งานลงได้ในแต่ละเดือน เอาไปใช้ซื้อล็อตเตอรี่พลังงานเพื่อลุ้นรับของและเงินรางวัลต่างๆ ที่จะมีการจับรางวัลทางโทรทัศน์ทุกๆ เดือน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดล็อตเตอรี่พลังงานนี้ เป็นไอเดียพลังงานจากเวิร์กชช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy” ที่จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเวิร์กช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy”
โปรเจ็กต์ซันรูฟ
เพื่อให้ข้อมูลการลงทุนพลังงานมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน โปรเจกต์ซันรูฟ (Project Sunroof) จึงถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อระบบดาวเทียมจากกูเกิล เอิร์ธ เพื่อคำนวณและแสดงปริมาณแสงอาทิตย์รายปีที่จะตกกระทบบนหลังคาบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งอย่างจำเพาะเจาะจง รวมถึงให้ข้อมูลและคำนวณความคุ้มค่าที่โปร่งใสหากต้องการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ทั้งยังให้บริการข้อมูลบริษัทผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย โปรเจ็กต์ซันรูฟเป็นโครงการต้นแบบของกูเกิ้ล ที่กำลังพัฒนาและทดลองใช้งานในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบอสตัน เฟรสโน และซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย
แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์
เพื่อให้ผู้ใช้งานเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์ (HERE Maps) จึงถูกออกแบบมาให้คำนวณเส้นทางจากเอไปบีโดยใช้เวลาน้อยที่สุด แอพพลิเคชันนำทางอัจฉริยะนี้ มีระบบแสดงข้อมูลและเส้นทางการจราจรทั้งในรูปแบบภาพและเสียง โดยระบบสามารถคำนวณเส้นทางจราจรที่ดีที่สุดให้ได้ถึง 4 เส้นทาง ซึ่งหากเกิดการจราจรติดขัดในระหว่างเดินทาง ผู้ใช้งานสามารถหลบเลี่ยงเปลี่ยนไปใช้งานเส้นทางอื่นๆ ที่ระบบคำนวณไว้ให้ได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเรียกใช้ข้อมูลสถิติจราจรจากระบบคลาวด์โดยไม่ต้องเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์ เป็นผลงานการออกแบบของบริษัทโนเกีย
เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์
เพื่อให้เทคโนโลยีตอบโจทย์การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์ (Circular Economy Light Bulb) เป็นไอเดียบริการขายแสงสว่างโดยเรียกเก็บเงินเป็นรายปีแทนที่การขายหลอดไฟแอลอีดีแบบเดิมๆ ที่นอกจากจะมีกรรมวิธีการผลิตอันซับซ้อนด้วยวัตถุดิบที่หายากแล้ว ยังกลายเป็นขยะได้ง่ายๆ เมื่อหมดอายุขัย โดยหลอดไฟแบบใหม่นี้ ถูกออกแบบให้ถอดไส้ด้านในออกได้และเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการ ทำให้เมื่อชำรุดหรือถึงเวลาต้องเปลี่ยนไส้ใน ผู้ให้บริการสามารถส่งไส้ในชิ้นใหม่ที่พัฒนาให้กินไฟน้อยลงไปยังผู้ใช้งานได้ทันท่วงทีเพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ขาดตอน เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์ เป็นแนวคิดต้นแบบโดย ดิ เอเจนซี ออฟ ดีไซน์ (The Agency of Design) สตูดิโอออกแบบจากสหราชอาณาจักร ที่ได้ทุนการค้นคว้าวิจัยจากหน่วยงานอินโนเวท ยูเค (Innovate UK)
ลงมือสร้างสรรค์ร่วมกัน
ถึงเวลาแล้วที่คุณจะได้ระดมสมองและทดลองค้นหาแนวคิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะหัวใจของการพัฒนาแนวคิดอยู่ที่การนำความคิดเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาร่วมกัน การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานเป็นหมู่คณะ นอกจากจะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของไอเดียร่วมกันแล้ว ยังเป็นหนทางสู่การสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงประเด็น
เวิร์กช็อปกระบวนการคิดเชิงออกแบบโดย TCDC
เวิร์กช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy” จัดโดย TCDC และเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิดเปลี่ยนชีวิตพลังงาน” จัดโดย TCDC ร่วมกับ HUBBA THAILAND เป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า ความหลากหลายและการให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้พลังงาน นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการด้านพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้เรียนรู้และลงมือสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกัน
อย่าลืมแบ่งปันแนวคิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในแบบของคุณได้ทางเฟซบุ๊ก Designing Energytopia หรือส่งด้วยตัวเองได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของ TCDC และ TCDC เชียงใหม่