Introduction
กลับ
Energytopia

ทำความรู้จักเรื่องพลังงานในชีวิตประจำวัน

ก่อนจะลงมือสร้างสรรค์ไอเดียการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราอยากเชิญคุณลองทำความรู้จักเรื่องพลังงานในชีวิตประจำวันทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตกันก่อน

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่การใช้ชีวิตไม่ถูกจำกัดด้วยการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์อีกต่อไป ทำไมและเมื่อใดที่การสร้างสำนึกเรื่องประหยัดพลังงานเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ความท้าทายเรื่องพลังงานวันนี้และโจทย์ในวันหน้าจะเป็นแบบไหน และความคิดสร้างสรรค์รวมถึงองค์ความรู้จะเป็นเครื่องมือช่วยจินตนาการอนาคตใหม่ของการใช้พลังงานให้เป็นจริงได้อย่างไร

 

นิยามใหม่ของการใช้ชีวิต

อดีต

ในอดีตการประหยัดพลังงานไม่เคยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโลกไม่เคยหาพลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อหลอดไฟให้แสงสว่างที่มาพร้อมกับระบบกระแสไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้น โดยนอกจากไฟฟ้าจะกลายเป็นระบบพลังงานสำคัญให้ทุกชีวิตได้พึ่งพาแล้ว ยังได้เปลี่ยนโฉมหน้าการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง

การคุ้นเคยกับการมีพลังงานใช้อย่างสะดวกสบาย ทำให้เมื่อเกิดการขาดแคลนพลังงานไม่ว่าจะเพราะสงคราม วิฤตการณ์น้ำมัน หรือภาวะโลกร้อน ผู้คนจึงลุกขึ้นมาสร้างจิตสำนึกและรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยการออกแบบและสร้างสรรค์สารพัดวิธีการเข้าต่อกรกับข้อจำกัดทางพลังงานในหลากหลายรูปแบบ

สังคมเสพติดการใช้พลังงาน

ปัจจุบัน

ความท้าทายเรื่องพลังงานทุกวันนี้อาจไม่ใช่เรื่องของสงคราม การขาดแคลนน้ำมัน หรือโลกร้อน แต่กลายเป็นเรื่องการเสพติดการใช้พลังงานตั้งแต่ตื่นจนนอนในวันที่ทรัพยากรพลังงานสำคัญอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดไป

เมื่อโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการคมนาคมขนส่งแบบไร้พรมแดนล้วนแล้วแต่บริโภคพลังงานอย่างมหาศาล อีกทั้งเศรษฐกิจและสังคมก็ใช้พลังงานขับเคลื่อน ถ้าเช่นนั้น หากใช้แค่เพียงแคมเปญโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ในการสร้างสำนึกให้ผู้คนหันมา “ประหยัดพลังงาน” เพื่อช่วยชาติ ช่วยโลก หรือช่วยสิ่งแวดล้อม จะเพียงพอที่จะส่งต่อโลกใบนี้ไปยังอนาคตข้างหน้าหรือไม่

โลกที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อนาคต

ในการจะออกแบบโลกแห่งอนาคต ความท้าทายใหม่คือจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าใจและพลิกมุมมองจากการประหยัดและลดการใช้ มาเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่จะช่วยพาโลกไปสู่ความยั่งยืน

โดยในขณะที่การคิดค้นนวัตกรรมพลังงานและแหล่งพลังงานทางเลือกยังคงดำเนินไป หากคิดให้กว้างขึ้น จินตนาการให้ไกลขึ้น ลงมือทำให้หนักขึ้น จะมีวิธีการสร้างและเก็บกักพลังงานจากแหล่งอื่นใดได้อีกไหม หรือจะมีนวัตกรรมและบริการรูปแบบใดที่จะเปิดโอกาสให้เราสร้างและเสพพลังงานไปพร้อมๆ กันได้ในชีวิตประจำวัน

Build Profile

คุณคือผู้ใช้พลังงานแบบไหน

รู้ไหมว่าแต่ละเดือนคุณใช้พลังงานไปมากแค่ไหน
ง่ายๆ แค่คลิกเลือกจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คุณใช้
แล้วลองดูว่าค่าพลังงานที่คุณใช้ ทำให้คุณเป็นผู้ใช้พลังงานแบบไหน

0000.0
ดูผล
Energy Efficiency

พลังงานและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ

การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) นั้น ไม่ได้หมายถึงการประหยัดพลังงาน (Energy Saving) แต่เป็นการลดค่าการใช้พลังงานลงโดยให้ยังคงผลลัพธ์ได้เท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงปริมาณหรือคุณภาพ

จุดนี้เองที่กระบวนการคิดเชิงออกแบบจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะเครื่องมือในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา ที่จะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมและและบริการใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ แก่นของกระบวนการคิดเชิงออกแบบอยู่ที่การวางกรอบใหม่ให้กับปัญหา โดยเริ่มจากการตั้งสมมติฐาน รวมรวบข้อมูลหลักฐาน หารูปแบบ ตั้งคำถาม และหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้บนขอบเขตที่วางไว้

หากเรารู้และเข้าใจแล้วว่าการประหยัดพลังงานไม่ได้เท่ากับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลองใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบมาหาคำตอบกันไหมว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้พลังงานสามารถใช้พลังงานน้อยลงแบบสมัครใจโดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียสละไลฟ์สไตล์ที่คุ้นเคย

People, Problem, Insight

รู้จักและเข้าใจผู้ใช้พลังงาน

เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติ ความต้องการ พฤติกรรม การรับรู้ และประสบการณ์การใช้พลังงานของผู้ใช้พลังงานภาคครัวเรือน เราใช้เครื่องมือการวิจัยเชิงออกแบบ (Design Research Tools) เช่น การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึก ฯลฯ

ลองมาทำความรู้จักกับผู้ใช้จำลอง 6 กลุ่ม ที่เราสร้างขึ้นจากข้อมูลจากการวิจัย  เรื่องราวต่างมุมมองและวิถีชีวิตที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมและพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ต่างกันนี้ จะให้ช่วยคุณสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลากหลาย และครอบคลุม

ความเข้าใจเชิงลึก
ครอบครัวตัวจ่าย
คู่รักรักษ์โลก
นักล่าไฟฟ้า
คุณทรงประสิทธิภาพ
นางสาวตามน้ำ
นักแสวงหาโอกาส
พลังงาน คือ ความสะดวกสบาย

ครอบครัวตัวจ่าย

พ่อแม่วัยกลางคน ลูกชายลูกสาววัยรุ่น และแม่บ้าน ใช้ชีวิตในบ้านชานเมืองหลังใหญ่ที่มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตอย่างครบครัน

เพราะสำหรับครอบครัวตัวจ่ายความสบายต้องมาก่อน ไม่น่าแปลกใจที่ต่างฝ่ายต่างพากันผลาญพลังงานไปกับทุกกิจกรรมที่คิดว่าใช่ในทุกเวลาที่ต้องการ การเปิดไฟหรือเปิดแอร์ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะความสบายของกายใจคือหัวใจสำคัญ ทำให้ถึงแม้ว่าคุณแม่อยากจะควบคุมการใช้พลังงานแค่ไหน ก็จนใจเพราะขาดความร่วมมือจากสมาชิกในบ้าน ผู้ไม่เคยสนใจเลยว่าเงินค่าไฟจะปลิวออกจากกระเป๋าไปเท่าไหร่ในแต่ละเดือน

"สามีพี่ชอบบอกแม่บ้านให้เปิดแอร์รอไว้ตั้งแต่ทุ่ม แต่ตัวเองกว่าจะกลับบ้านก็ตั้งสามทุ่ม พี่บอก ‘โอยอย่างนี้ไม่ไหว’ ลองคิดดูว่าค่าไฟที่พี่ต้องจ่ายจะขนาดไหน"
ดูไอเดียพลังงาน
พลังงาน คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม

คู่รักรักษ์โลก

คู่รักหนุ่มสาวฮิปสเตอร์อายุยี่สิบแปดปี ทำงานในสายอาชีพการออกแบบและครีเอทีฟ อาศัยในคอนโดโลว์ไรส์ใจกลางเมืองที่แวดล้อมไปด้วยแมกไม้เขียวขจี

คู่รักรักษ์โลกเชื่อมโยงเรื่องพลังงานที่จับต้องได้ยากเข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากจะเชื่อมั่นว่าพลังงานจะไม่มีวันหมดไปจากโลกถ้ารู้จักใช้อย่างรักษ์สิ่งแวดล้อม หนุ่มสาวคู่นี้มีความยั่งยืนอยู่ในทุกลมหายใจ ทั้งคู่ชอบโพสต์และแชร์เคล็ดลับประหยัดพลังงานกับเพื่อนฝูง รวมถึงเป็นแนวหน้าในการทำกิจกรรมลดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ทั้งการปั่นจักรยาน การใช้ถุงผ้าช้อปปิ้งลดโลกร้อน และการปลูกต้นไม้ ทุกอย่างดูดี ถ้าพวกเขาจะเข้าใจว่า การขับรถไฮบริดไปซื้อสินค้าออร์แกนิกที่ร้านใกล้บ้านในวันหยุดนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการประหยัดพลังงาน

"ไลฟ์สไตล์อีโคแบบเราคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เราเลือกขับรถไฮบริดที่ประหยัดน้ำมันช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์"
ดูไอเดียพลังงาน
พลังงาน คือ ค่าใช้จ่าย

นักล่าไฟฟ้า

นักศึกษาสาวอายุยี่สิบปีที่ย้ายเข้าเมืองมาเรียนหนังสือ เพราะต้องดูแลรับผิดชอบทั้งค่าหอ ค่ากิน และค่าเดินทางด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่า ยิ่งเธออยู่หอเยอะเท่าไหร่ ใช้พลังงานไปแค่ไหน ก็ต้องจ่ายเงินไปเท่านั้น

เพราะชีวิตที่พึ่งพาโลกอินเทอร์เน็ตในการเรียนและทำงาน รวมถึงการรับรู้ข่าวสารและความบันเทิงจากโลกโซเชียล สำหรับนักล่าไฟฟ้า ที่ไหนก็ตามที่มีโต๊ะให้เธอนั่งทำงานหรือดูหนังฟังเพลง มีปลั๊กไฟให้เสียบสายชาร์จโน๊ตบุ๊ก มือถือ หรือพาวเวอร์แบงก์ มีฟรี wi-fi ให้ใช้ไม่อั้น และมีแอร์ปรับอากาศไว้ให้เย็นฉ่ำ แม้จะต้องจ่ายค่าน้ำค่าอาหาร นักล่าไฟฟ้าถือว่าคุ้มค่ากว่ากลับไปจ่ายบิลค่าไฟของหอพัก

"เดือนไหนอยู่หอเยอะค่าไฟยิ่งแพง สู้ออกไปนั่งทำงานส่งอาจารย์ที่ร้านกาแฟยังจะคุ้มกว่า ยังไงก็ต้องกินน้ำกินข้าวอยู่ดี"
ดูไอเดียพลังงาน
พลังงาน คือ การใช้เพื่อตอบวีถีชีวิต

คุณทรงประสิทธิภาพ

สถาปนิกหนุ่มนักเรียนนอกอายุสามสิบแปดปี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เติบโตมาในบ้านที่รู้จักออกแบบและวางแผนการใช้พลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแน่นปึ๊ก

เพราะมองว่าการใช้พลังงานจะต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสบาย เพื่อเป้าหมายเรื่องค่าใช้จ่าย หรือจะเพื่อความสุขและความสบายใจก็ตาม คุณทรงประสิทธิภาพจึงใช้อุปกรณ์ไฮเทคในการวางแผนเส้นทางและวิธีการเดินทางก่อนออกจากบ้านไปทำงาน และไม่เกี่ยงว่าสุดท้ายคือจะไปลงเอยด้วยการขับรถ คาร์พูล ปั่นจักรยาน หรือใช้บริการขนส่งมวลชน ขึ้นกับว่าวิธีไหนตอบความต้องการของเขาได้ดีที่สุด

"ผมไม่ปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี ผมไม่ปฏิเสธการใช้พลังงาน ถ้าใช้แล้วมันเกิดประโยชน์สูงสุด ผมใช้ชีวิตอย่างนั้น"
ดูไอเดียพลังงาน
พลังงาน คือ เรื่องต้องทำตาม

นางสาวตามน้ำ

สาวทำงานองค์กรของรัฐอายุสามสิบห้าปี อาศัยอยู่ในชุมชนแฟลตการเคหะขนาดใหญ่ นางสาวตามน้ำเชื่อสุดใจในข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานทั้งจากวิทยุและโทรทัศน์ และจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนบ้าน

สื่อและคนรอบข้างมีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานของนางสาวตามน้ำ สำหรับเธอแล้ว ใครว่าอะไรดีเธอก็ว่าดี ใครให้ทำอะไรหรือทำอะไร เธอก็พร้อมจะทำตาม ไม่เพียงแต่เธอจะเป็นคนที่คอยสอดส่องดูแลการเปิดปิดแอร์ช่วงพักเที่ยงในที่ทำงานตามประกาศขอความร่วมมือแล้ว นางสาวตามน้ำยังเป็นคนที่จะยินดีปิดไฟในบ้านหนึ่งนาทีตามการรณรงค์ให้ปิดไฟทั่วประเทศทางทีวีอย่างไม่ลังเลอีกด้วย การได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบเดียวกับที่เพื่อนๆ ใช้หรือแนะนำ สร้างความฟินและความมั่นใจในสินค้าได้ไม่แพ้การรับชมและรับฟังคำโฆษณาความคุ้มค่าของเครื่องใช้ไฟฟ้าทางทีวี

"อย่างเตารีดนี่พี่ก็ใช้ตามที่เพื่อนแนะนำมาว่าเขาใช้แล้วดี ยี่ห้อไหนๆ ตอนนี้ก็แปะฉลากเบอร์ห้าเหมือนกันหมดแล้ว"
ดูไอเดียพลังงาน
พลังงาน คือ ความคุ้มค่า

นักแสวงหาโอกาส

เจ้าของบูตีกโฮสเทลอายุสี่สิบปี นักแสวงหาโอกาสที่มองการใช้พลังงานเป็นเรื่องของการลงทุน ข่าวสารและข้อมูลที่ชัดเจนคือหัวใจสำคัญในการช่วยตัดสินใจทำธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานขับเคลื่อนอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง

นักแสวงหาโอกาสสนใจศึกษาเรื่องพลังงานและพยายามคำนวณผลตอบแทนหากจะต้องลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อติดตั้งแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้ให้มีประสิทธิภาพโดยดูที่ความคุ้มค่าและการคืนทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี แม้ค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานที่สูงจะแสดงว่ามีแขกเข้าพักที่โรงแรมมาก เขาก็ไม่ลังเลที่จะติดสติกเกอร์ลดโลกร้อนไว้ที่สวิทซ์ไฟในห้องพักแขก ถ้านั่นจะช่วยให้บิลค่าไฟที่เขาต้องจ่ายลดลงสักนิด

"มันไม่ใช่เรื่องของจิตสำนึกเลย ในเชิงธุรกิจเป็นเรื่องของตัวเลขล้วนๆ สนใจเรื่องประหยัดพลังงานไหมก็สน เพื่อสิ่งแวดล้อมไหม ก็ใช่ แต่ต้องไม่ขาดทุนก่อนนะ"
ดูไอเดียพลังงาน
Design Innovation

สรรหาสารพันไอเดียพลังงาน

ไอเดียทดลอง นวัตกรรมและบริการที่คุณเห็นเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ช่วยเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้อง

โอกาส
ปรับความสบายได้แบบอัตโนมัติ

เนสท์ เทอโมสแตด

เพื่อให้เครื่องปรับอากาศปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้ตามพฤติกรรมการใช้งานของคนในบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เนสท์ เทอโมสแตด จึงถูกออกแบบให้จดจำรูปแบบการใช้งานเครื่องปรับอากาศของครัวเรือนนั้นๆ และประมวลผลสถิติค่าอุณหภูมิเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิภายในบ้านให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ โดยเซนเซอร์และระบบจะตรวจสอบจำนวนคนในห้อง ก่อนจะตัดสินใจปรับลดหรือเพิ่มอุณหภูมิ รวมไปถึงทำการเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศโดยเจ้าของบ้านไม่ต้องออกแรง เนสท์ เทอโมสแตด ยังแสดงค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าและอุณหภูมิในแบบรีลไทม์ผ่านแอพพลิเคชัน เทอโมสแตดอัจฉริยะนี้ เป็นเทคโนโลยีจากบริษัท เนสท์ แล็บ (Nest Lab) ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท อัลฟาเบธ (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิ้ล

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนสท์ เทอโมสแตด

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
 มองพลังงานให้เป็นการบริการ

แผนที่รวมแหล่งพลังงาน

เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเสพติดพลังงานของผู้คนในปัจจุบัน แผนที่รวมแหล่งพลังงานมองเรื่องพลังงานให้เป็นจุดขาย โดยให้ข้อมูลจำนวนปลั๊กไฟและวายฟายในคาเฟ่หรือคอฟฟี่ช็อปต่างๆ ในแต่ละย่าน ไปพร้อมๆ กับข้อมูลเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม และการบริการ ผู้ใช้งานนอกจากจะสำรวจและเลือกใช้บริการคาเฟ่หรือคอฟฟี่ช็อปได้ตามใจชอบแล้ว ยังสามารถรีวิวและให้คะแนนระดับความพึงพอใจที่ได้อีกด้วย แผนที่รวมแหล่งพลังงานนี้จึงตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ เมื่อไฟฟ้ากลายเป็นบริการใหม่ที่คุ้มค่าเมื่อมากับอาหารและเครื่องดื่ม แผนที่รวมแหล่งพลังงานเป็นไอเดียพลังงานที่ได้จากรายงาน การสำรวจข้อมูลวาทกรรมการใช้พลังงานร่วมกันในพื้นที่สาธารณะและการรณรงค์ผ่านสื่อ โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
แข่งขันกันได้ใช้พลังงานกันดี

โอพาวเวอร์

เพื่อให้การประหยัดพลังงานกลายเป็นเรื่องสนุกและทุกคนมีส่วนร่วมได้ผ่านการแข่งขัน โอพาวเวอร์ (OPOWER) จึงถูกออกแบบมาให้เป็นแพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบค่าการใช้พลังงานระหว่างครัวเรือนที่มีขนาดเท่ากัน ผ่านแอพพลิเคชันและระบบซอฟต์แวร์ ที่เชื่อมต่อมิเตอร์ไฟฟ้าของแต่ละบ้านที่ใช้งานโอพาวเวอร์เข้าด้วยกันบนโลกออนไลน์ แล้วแจ้งเป็นอันดับการใช้ไฟฟ้ามากน้อยของแต่ละครัวเรือนทุกๆ เดือน โอพาวเวอร์ เป็นแอพพลิเคชันที่ผลิตโดยบริษัท โอพาวเวอร์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับผู้ให้บริการด้านพลังงานในสหรัฐอเมริกาจากการร่วมมือระหว่างวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักออกแบบ และนักจิตวิทยา ผู้นำพฤติกรรมการชอบแข่งขันของมนุษย์ มาเป็นกรอบในการออกแบบบริการนี้

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโอพาวเวอร์

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
จับต้องได้ก็จัดการพลังงานได้

โฮมสมาร์ทโฮม

เพื่อให้ค่าพลังงานเป็นเรื่องที่เห็นได้และเข้าใจง่าย แนวคิดระบบโฮมสมาร์ทโฮมจึงถือกำเนิดขึ้นบนพื้นฐานความต้องการเชื่อมโยงเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าด้วยกันแบบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบมิเตอร์ประจำบ้าน หรือระบบจ่ายค่าไฟการไฟฟ้า โดยเป็นระบบเครือข่ายที่นอกจากจะใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากระยะไกลได้แล้ว ยังสามารถตรวจสอบค่าการใช้พลังงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดแบบรีลไทม์ รวมถึงทำการชำระค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ทั้งนี้ ระบบยังสามารถนำไปใช้งานในโครงการบ้านจัดสรรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้โครงการและเพิ่มขีดความสามารถในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบโฮมสมาร์ทโฮมเป็นไอเดียพลังงานจากเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิดเปลี่ยนชีวิตพลังงาน” โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ HUBBA Thailand

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิด เปลี่ยนชีวิตพลังงาน”

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
จับคู่เรื่องพลังงานเข้ากับการเสี่ยงโชค

ลอตเตอรี่พลังงาน

เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเสี่ยงโชคที่คนไทยชื่นชอบ แนวคิดล็อตเตอรี่พลังงานจึงเกิดขึ้นโดยผนวกเรื่องการใช้พลังงานเข้ากับวิถีชีวิต ผู้ใช้งานสามารถสะสมจำนวนเงินส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่ลดค่าการใช้งานลงได้ในแต่ละเดือน เอาไปใช้ซื้อล็อตเตอรี่พลังงานเพื่อลุ้นรับของและเงินรางวัลต่างๆ ที่จะมีการจับรางวัลทางโทรทัศน์ทุกๆ เดือน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดล็อตเตอรี่พลังงานนี้ เป็นไอเดียพลังงานจากเวิร์กชช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy”  ที่จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเวิร์กช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy”

ลงทุนกับพลังงานได้แบบเฉพาะตัว

โปรเจ็กต์ซันรูฟ

เพื่อให้ข้อมูลการลงทุนพลังงานมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งาน โปรเจกต์ซันรูฟ (Project Sunroof) จึงถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อระบบดาวเทียมจากกูเกิล เอิร์ธ เพื่อคำนวณและแสดงปริมาณแสงอาทิตย์รายปีที่จะตกกระทบบนหลังคาบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งอย่างจำเพาะเจาะจง รวมถึงให้ข้อมูลและคำนวณความคุ้มค่าที่โปร่งใสหากต้องการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ทั้งยังให้บริการข้อมูลบริษัทผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย  โปรเจ็กต์ซันรูฟเป็นโครงการต้นแบบของกูเกิ้ล ที่กำลังพัฒนาและทดลองใช้งานในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบอสตัน เฟรสโน และซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ซันรูฟ

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
เดินทางวิธีไหนก็ได้ประสิทธิภาพ

แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์

เพื่อให้ผู้ใช้งานเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์ (HERE Maps) จึงถูกออกแบบมาให้คำนวณเส้นทางจากเอไปบีโดยใช้เวลาน้อยที่สุด แอพพลิเคชันนำทางอัจฉริยะนี้ มีระบบแสดงข้อมูลและเส้นทางการจราจรทั้งในรูปแบบภาพและเสียง โดยระบบสามารถคำนวณเส้นทางจราจรที่ดีที่สุดให้ได้ถึง 4 เส้นทาง ซึ่งหากเกิดการจราจรติดขัดในระหว่างเดินทาง ผู้ใช้งานสามารถหลบเลี่ยงเปลี่ยนไปใช้งานเส้นทางอื่นๆ ที่ระบบคำนวณไว้ให้ได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเรียกใช้ข้อมูลสถิติจราจรจากระบบคลาวด์โดยไม่ต้องเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย  แอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์ เป็นผลงานการออกแบบของบริษัทโนเกีย

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอพพลิเคชันเฮียร์ แม็พส์

ออกแบบหลอดไฟให้ใช้ได้คุ้มค่า

เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์

เพื่อให้เทคโนโลยีตอบโจทย์การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์ (Circular Economy Light Bulb) เป็นไอเดียบริการขายแสงสว่างโดยเรียกเก็บเงินเป็นรายปีแทนที่การขายหลอดไฟแอลอีดีแบบเดิมๆ ที่นอกจากจะมีกรรมวิธีการผลิตอันซับซ้อนด้วยวัตถุดิบที่หายากแล้ว ยังกลายเป็นขยะได้ง่ายๆ เมื่อหมดอายุขัย โดยหลอดไฟแบบใหม่นี้ ถูกออกแบบให้ถอดไส้ด้านในออกได้และเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการ ทำให้เมื่อชำรุดหรือถึงเวลาต้องเปลี่ยนไส้ใน ผู้ให้บริการสามารถส่งไส้ในชิ้นใหม่ที่พัฒนาให้กินไฟน้อยลงไปยังผู้ใช้งานได้ทันท่วงทีเพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพไม่ขาดตอน เซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์ เป็นแนวคิดต้นแบบโดย ดิ เอเจนซี ออฟ ดีไซน์ (The Agency of Design) สตูดิโอออกแบบจากสหราชอาณาจักร ที่ได้ทุนการค้นคว้าวิจัยจากหน่วยงานอินโนเวท ยูเค (Innovate UK)

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเซอร์คูล่า อีโคโนมี ไลท์ บัลบ์

ดูตัวอย่างผู้ใช้งานจำลอง
Design Thinking Toolkit

ลงมือสร้างสรรค์ร่วมกัน

ถึงเวลาแล้วที่คุณจะได้ระดมสมองและทดลองค้นหาแนวคิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะหัวใจของการพัฒนาแนวคิดอยู่ที่การนำความคิดเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมาพัฒนาร่วมกัน การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานเป็นหมู่คณะ นอกจากจะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของไอเดียร่วมกันแล้ว ยังเป็นหนทางสู่การสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงประเด็น

เวิร์กช็อปกระบวนการคิดเชิงออกแบบโดย TCDC

เวิร์กช็อป “Design Thinking for The Future of Thailand Energy” จัดโดย TCDC และเวิร์กช็อป “Design Thinking Energy: ออกแบบความคิดเปลี่ยนชีวิตพลังงาน” จัดโดย TCDC ร่วมกับ HUBBA THAILAND เป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า ความหลากหลายและการให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้พลังงาน นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการด้านพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้เรียนรู้และลงมือสร้างสรรค์ไอเดียพลังงานผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบร่วมกัน

อย่าลืมแบ่งปันแนวคิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในแบบของคุณได้ทางเฟซบุ๊ก Designing Energytopia หรือส่งด้วยตัวเองได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของ TCDC และ TCDC เชียงใหม่